“อำนาจนิยม” เป็นประหนึ่งศัพท์แสงที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย เราสามารถพบคำ ๆ นี้ได้ตามหนังสือพิมพ์ การปราศรัยในการชุมนุม หรือแม้กระทั่งการอภิปรายญัตติต่าง ๆ ในรัฐสภา และคำว่า “อำนาจนิยม” ก็เป็นคำที่ทรงพลังเสมอมา วันนี้ นักเรียนเลวขอพาทุกคนย้อนกลับไปในห้วงประวัติศาสตร์เพื่อทำความเข้าใจและรู้เท่าทันอำนาจนิยมไปด้วยกัน
“อำนาจนิยม” เป็นศัพท์บัญญัติจากคำว่า “Authoritarianism” สารานุกรมบริแทนนิกาได้ให้ความหมายของคำว่า “Authoritarianism” ไว้ว่า “การยอมรับอำนาจอย่างถึงที่สุด และการกดขี่เสรีภาพทางความคิดและการกระทำของปัจเจกบุคคล (the blind submission to authority and the repression of individual freedom of thought and action)”
แนวคิดอำนาจนิยมเป็นแนวคิดที่มีมาอย่างยาวนาน แต่หนึ่งในช่วงเวลาที่แนวคิดนี้ปรากฏเด่นชัดที่สุดคือช่วงกลางศตวรรษที่ 20 หรือช่วงยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านลิทธิฟาสซิสต์ ลิทธินี้เป็นแนวคิดที่เชื่อในความเป็นระเบียบของสังคมด้วยการนำของผู้นำที่เข้มแข็งและสามารถนำประเทศไปสู่ความเจริญได้ ถือเป็นรูปแบบของระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จรูปแบบหนึ่ง และแนวคิดนี้ก็ได้แพร่กระจายไปทั่วโลกผ่านการทำสงครามของฝ่ายฝ่ายอักษะในยุโรป ได้แก่ อิตาลี นำโดยเบนิโต มุสโสลินี และนาซีเยอรมัน นำโดยอดอล์ฟ ฮิตเลอร์
แนวคิดแบบนี้มีมานานแล้ว แต่ในบริบทของโลกปัจจุบัน ก็คงไม่มียุคใดที่ส่งผลต่อแนวคิดนี้เท่าช่วงกลางคริสตศตวรรษที่ 20 อีกแล้ว แนวคิดฟาสซิสต์ ซึ่งให้ความสำคัญกับการอุทิศชีวิตเพื่อประเทศชาติ แพร่กระจายไปทั่วทวีปยุโรป พวกเสื้อดำของมุโสลินีครองเมือง พรรคนาซีปกครองเยอรมนีด้วยกำปั้นเหล็ก (iron fist) ซึ่งแนวคิดฟาสซิสต์นี้ก็ส่งอิทธิพลมาถึงไทยด้วย โดยเฉพาะในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม แต่หลังเขาหมดอำนาจไปแนวคิดนี้ก็ไม่เคยหาย รัฐบาลเผด็จการที่ตามมาก็ยังคงยึดหลักการอำนาจนิยมสืบเป็นทอด ๆ
ตั้งแต่สมัยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ก็ไม่ได้ต่อต้านแนวคิดฟาสซิสต์เสียทีเดียว ซ้ำยังดูเปิดรับ (open to the idea) อีก แต่โชคดีที่การปฏิวัติ 2475 เข้ามาหยุดยั้งความคิดเรื่องฟาสซิสต์ไปชั่วคราว แต่แนวคิดนี้ก็หาได้ตายไปในไทย รัฐบาลของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ออกแบบการปกครองโดยเลียนแบบอิตาลีภายใต้มุโสลินี
รัฐบาลของจอมพล ป. ใช้คำอธิบายแบบเสรีประชาธิปไตยมาปกครองในลักษณะค่อนไปทางฟาสซิสต์ นโยบายหลาย ๆ อย่างก็ออกแนวอำนาจนิยม อย่างรัฐนิยมที่บังคับให้คนไทยแต่งกายแบบสากลนิยม การบังคับกิจวัฏประจำวันคน หลายอย่างก็ออกแนวฟาสซิสต์ต่อต้าน “ชาวต่างชาติ” ไปเลย เช่น การสงวนอาชีพให้กับคนไทย เป็นต้น
แต่หลังเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ รัฐบาลเผด็จการก็เริ่มฝังอำนาจนิยมเพิ่มเข้าไปในการศึกษามากขึ้นกว่าเผด็จการสมัยก่อน ๆ เพื่อทำลายอำนาจของนักเรียนนักศึกษา ทำให้ในสังคมไทยนั้นเต็มไปด้วยแนวคิดอำนาจนิยม ตั้งแต่ต้องเชื่อฟังครูโดยไม่หืออือ ต้องยอมรับการเฆี่ยนตีโดยผู้ปกครองโดยไม่หืออือ หรือต้องยอมรับการริดรอนสิทธิโดยรัฐบาล
ทั้งหมดนี้สร้างสังคมที่คนโดยมากสยบยอมต่ออำนาจ เห็นได้จากแนวคิดเรื่องอยู่เป็น คนไทยโดยมากยอม “อยู่เป็น” เลือกที่จะไม่หือไม่อือ พ่อแม่มักสอนลูกว่าอย่ามาทำกิจกรรมทางการเมือง ให้ลูก “อยู่เป็น” คนไทยมีความเข้าใจในปัญหาทางสังคม ว่าสังคมบิดเบี้ยว สังคมไม่ได้มีเสรีภาพที่แท้จริง แต่กลับเลือกที่จะ “อยู่เป็น” อยู่เฉย ๆ ทำมาหากินเลี้ยงชีพไปวัน ๆ สังคมจะเป็นตายร้ายดีอย่างไรก็เพียงวิพากษ์วิจารณ์ไปเท่านั้น
อำนาจนิยมในสถานศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ความรุนแรง การสั่งสอนให้ไม่หืออือกับครู ถูกสอนว่าครูถูกต้องเสมอ การบังคับทรงผมการแต่งกาย ฯลฯ ทั้งหมดนี้ก่อร่างสภาพแวดล้อมที่นักเรียนไม่รู้สึกปลอดภัย เป็นสภาวะที่ถูกกดขี่ ทำให้นักเรียนไม่กล้าแสดงออก อย่าว่าแต่การลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองเลย สภาพแวดล้อมในโรงเรียนไม่เอื้อต่อการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของตัวนักเรียนเองด้วยซ้ำ
สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและไร้ความหวังสำหรับความเปลี่ยนแปลงนั้นย่อมส่งผลต่อตัวนักเรียนแน่นอน บรรยากาศแบบนั้นยิ่งส่งเสริมค่านิยม “อยู่เป็น” ในเมื่อตั้งแต่เด็ก คนเราก็มาพบความจริงว่าการแสดงออกนำไปสู่การลงโทษและความเปลี่ยนแปลงถูกระงับยับยั้งด้วยโครงสร้างอำนาจนิยมที่ไม่ยอมเปลี่ยน คนเราจะสู้เพื่อความเปลี่ยนแปลงไปทำไม
สังคมแบบนี้ไม่ใช่สังคมที่ดีต่อเด็ก สังคมแบบนี้คือสังคมที่ปล่อยให้อาชญากรลอยนวลพ้นผิด ตั้งแต่ครูล่วงละเมิดทางเพศเด็กไปจนถึงทหารที่ทำรัฐประหาร สังคมแบบนี้สร้างบาดแผลให้เด็กเป็นหมื่นเป็นแสน โดยที่โดยมากเด็กเหล่านั้นไม่ได้การชดเชยอะไรเลย และพฤติกรรมที่สร้างบาดแผลดังกล่าวก็ได้รับอนุญาตให้ดำเนินต่อไป หากย้อนกลับไปดูกรณีตัวอย่างจากนิทรรศการ ครูคือใคร ที่นักเรียนเลวเคยจัดในช่วงวันครูเมื่อต้นปีจะพบว่าอำนาจนิยมฝังรากลึกเสียจนการทำผิดมหรรต์กลับได้รับโทษกระจิดริด ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด และโดยมากครูก็ยังคงได้สอนต่อไป ได้มีโอกาสสร้างบาดแผลต่อไป
สังคมไทยไม่ควรดำเนินต่อไปแบบนี้ สังคมไทยต้องรื้อระบอบอำนาจนิยม