We knew that very well, that is why we had chosen homeschooling and you did very well and we could rest nicely.
จากการสำรวจทางสถิติของ World Population Review พบว่านักเรียนไทยเรียนหนักที่สุดในโลก ด้วยชั่วโมงเรียนเฉลี่ยยาวนานถึง 9.5 ชั่วโมงต่อวัน สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง ต่างจากประเทศที่ระบบการศึกษาก้าวหน้าส่วนใหญ่ที่ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมงต่อวัน ที่สำคัญคือการเรียนที่นานเกินไปอาจส่งผลให้เกิดความเหนื่อยล้า และอาจทำให้ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ลดลงได้
แต่นอกจากเวลาที่ต้องใช้ไปกับการเรียนในห้องเรียนแล้ว นักเรียนไทยยังต้องใช้เวลาไปกับการทำการบ้านอีกด้วย ถ้าอิงตามกรอบเวลาที่แนะนำของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนไทยจะใช้เวลาต่อวันประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมงครึ่งในระดับประถม และ 2 ชั่วโมงในระดับมัธยม ซึ่งเมื่อเทียบกับประเทศที่ระบบการศึกษาก้าวหน้าแล้วพบว่ามีเวลาทำการบ้านอยู่ที่ 30-45 นาทีต่อวันเท่านั้น กลายเป็นว่านักเรียนไทยต้องเสียเวลากับการเรียนมากสุดถึง 11.5 ชั่วโมงต่อวันโดยที่ยังไม่รวมเวลาสำหรับการเดินทางไปโรงเรียน
ทว่าการบ้านที่ถูกมอบหมายไปนั้น กลับไม่สามารถทำได้ตามจุดประสงค์ที่ต้องการ คือให้นักเรียนได้ฝึกฝนทักษะและทบทวน เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในบทเรียน เพราะเมื่อดูจากการประเมินคะแนน PISA 2022 ครั้งที่ผ่านมา พบว่านักเรียนไทยมีผลคะแนนย่ำแย่ที่สุดในรอบ 20 ปี อาจบอกได้ว่าเวลาที่ใช้ไปกับชั่วโมงเรียนหรือทำการบ้านอย่างมหาศาลนั้น ไม่ได้ทำให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ดีขึ้นเลย
นอกจากนี้ การมีการบ้านที่มากเกินไปยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของนักเรียนจากความเครียดและความกดดันที่สั่งสม บั่นทอนทั้งสุขภาพกายใจ ทำให้ไม่มีเวลาสำหรับใช้ทำกิจกรรมเพื่อค้นหาตัวตน เพื่อสำรวจความชื่นชอบ และอาจทำให้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนอีกด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียมากที่สุดในเด็กเล็ก เพราะเด็กในช่วงวัยนี้ยังไม่มีทักษะเพียงพอและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนที่ดี
ยกตัวอย่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับเวลาในการสะสางภาระงานของนักเรียน อย่างประเทศฟินแลนด์ ได้มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาขั้นพื้นฐาน มาตรา 24 ว่าด้วยภาระงานของนักเรียนไว้ในวรรคหนึ่งว่า นักเรียนจะต้องมีเวลาเพียงพอในการพักผ่อน เข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการและทำงานอดิเรกที่นอกเหนือไปจากเวลาที่ใช้ในโรงเรียน
อย่างไรก็ตาม ที่่ผ่านมารัฐบาลไทยก็พยายามที่จะแก้ไขปัญหาและคอยออกแนวปฏิบัติที่ผลักดันให้ลดปริมาณการบ้านและเวลาที่ใช้การเรียนของนักเรียนลงอยู่บ้าง ด้วยนโยบายที่คงคุ้นหูใครหลาย ๆ คนอย่าง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”กระนั้นก็ได้มีข้อคิดเห็นจากนักวิชาการว่าแนวปฏิบัติลดการบ้านนักเรียนของไทยเป็นนโยบายที่ทำไม่ได้จริงในระยะยาว โดยศาสตราจารย์สมพงษ์ จิตระดับ อดีตอาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการให้สัมภาษณ์กับทางไทยพีบีเอสไว้ว่า
“การแก้ปัญหาการบ้านจำเป็นต้องปรับที่ระบบการสอนและปรับกลุ่มสาระวิชาซึ่งเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการศึกษา ซึ่งการสั่งให้ลดปริมาณการบ้านอย่างเดียวยังไม่ตอบโจทย์ข้อนี้ ดังนั้นแล้ว ปัญหาภาระงานจากการศึกษาของนักเรียนไทยจะยังไม่หมดไป ถ้าไม่ได้แก้ไขที่ต้นตอ
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่รัฐบาลไทยควรแก้ไขจึงไม่ใช่แค่การสั่งการด้วยนโยบายจากเบื้องบน แต่จำเป็นต้องทบทวนรูปแบบการเรียนการสอนกันใหม่ ก่อนที่ปัญหาความเหนื่อยล้าสะสมของนักเรียนจะทวีความรุนแรงมากขึ้น จนไม่ได้กระทบแค่ผลการเรียนที่ตกลง แต่เป็นทัศนคติเชิงลบต่อการเรียน เมื่อเด็กไม่อยากเรียนแล้ว ต่อให้การบ้านจะน้อยแค่ไหน ก็คงไม่อาจช่วยอะไรให้ดีขึ้นได้